7 เคล็ด (ไม่) ลับ… พาเจ้าตัวน้อยไปเดินป่า พัฒนา EF
7 เคล็ด (ไม่) ลับ… พาเจ้าตัวน้อยไปเดินป่า พัฒนา EF
มีลูกแล้วก็ไปเดินป่า ขึ้นเขาได้นะ อย่าเก็บตัวให้เขาอยู่แต่ในเมืองใหญ่ มาพาเด็กไปเดินป่า ออกไปสัมผัสธรรมชาติเพื่อสร้างทักษะในชีวิต และภูมิคุ้มกันจิตใจ พัฒนา EF ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จให้กับเจ้าตัวน้อยผ่านการพาเขาเรียนรู้โลกกันเถอะ !
1. ความสนุกของทริปอยู่ที่การเดินทาง ไม่ใช่ปลายทาง
สมัยที่เราเป็นวัยรุ่น การเดินป่า เดินเขาขึ้นที่สูง ตามหาทะเลหมอกแสนไกล จะลำบากลำบนแค่ไหนก็ไม่หวั่น เพื่อให้ได้ไปถึงปลายทางที่ถ่ายรูปออกมาสวย ๆ จำได้ไหมพวกเราเน้นความคล่องตัว คนยิ่งน้อยยิ่งดี เพื่อให้ไปถึงจุดหมายให้เร็วขึ้น
แต่กับเด็กน้อยจะแตกต่างกัน เราต้องให้ความสำคัญกับระหว่างทางก่อนที่จะถึงเป้าหมายมากขึ้น เด็กจะมีความสงสัย ใคร่รู้ ความสวยงามของธรรมชาติ สัตว์ป่า แมลงเล็ก ๆ ที่เขาไม่เคยพบมาก่อนคืออะไรที่มหัศจรรย์ การใช้ชีวิตนอกห้องสี่เหลี่ยมที่เจออยู่ประจำ คือสิ่งที่เจ้าตัวน้อยควรได้เรียนรู้จากการมาเที่ยวป่าครั้งนี้ พยายามทำให้เขาได้สัมผัสตรงกับดินกับใบไม้เรียนรู้สิ่งรอบกายจากการเดินทางครั้งนี้ควบคู่ไปกับการทำตามเป้าหมายให้สำเร็จไปด้วย
2. ศึกษาเส้นทาง หาจุดเด่นของป่าเขาที่ไปอย่างน้อย 30 นาที ก็ยังดี
แน่นอนว่าการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางก่อนไปถึง ละแวกใกล้เคียง รวมถึงเส้นทางที่ราจะไปเที่ยวป่าเขาลำเนาไพรกัน
แม้เราจะไม่ใช่นักธรณีวิทยา หรือเป็นนักสัตววิทยาผู้เชี่ยวชาญ แต่สำหรับเจ้าตัวน้อยที่ไปกับคุณนั้น พ่อแม่คือผู้เชี่ยวชาญในทุก ๆ ด้านของโลกที่เขารู้จัก เขาพร้อมจะเรียนรู้และรับฟังด้วยความกระตือรือร้น การศึกษาเส้นทางและเงื่อนไข รวมถึงคาดการณ์สิ่งที่ต้องตระเตรียมด้วยการศึกษาผ่าน กูเกิล เฟสบุ๊ค เวลาซัก 30 นาที แล้วก็จัดหมวดจุดเด่นที่จะเอาไว้อธิบายให้จั๋วน้อยฟังน่าจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นสำหรับพ่อแม่อย่างพวกเรา ๆ หรอกเนอะ
3. ไปกันหลายครอบครัวยิ่งดี… ได้เพื่อนแล้วอุ่นใจ
สำหรับคนยุคใหม่ ที่นิยมอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น อาจทำให้การพบปะเจอะเจอเพื่อนในวัยเดียวกันของเด็กในวันหยุด โดยเฉพาะเวลาไปเดินป่า เดินเขานั้นมีโอกาสเป็นไปได้น้อย
กิจกรรมนอกบ้านสนุกๆ อย่างนี้ เป็นโอกาสดี ที่จะชวนญาติพี่น้อง หรือเพื่อน ๆ ที่มีเจ้าตัวน้อยเหมือนกันไปเดินป่าด้วยกัน นอกจากจะได้สานสัมพันธ์ครอบครัวแล้ว ยังเพิ่มสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว และให้เจ้าตัวน้อยได้มาเจอเพื่อนในวัยเดียวกันด้วยนะ เด็กมีเพื่อนก็จะยิ่งผ่อนคลายและสนุกกับการผจญภัยครั้งใหญ่ของเขา ถ้าหากว่ายังไม่มีเพื่อนก็ลองมองหากลุ่มแฟนเพจที่แนะนำพ่อแม่พาลูกเที่ยว เช่น พาลูกเที่ยวดะ ครอบครัวทัวร์ตะลอน กลุ่ม BNS บ้านนาเนเจอร์สคูล หรือทัวร์ค่ายพาเจ้าตัวน้อยเข้าป่าของ trekkingthai.com ได้
4. เพราะเจ้าตัวน้อยคือคนสำคัญ
เด็ก ๆ ก็เหมือนผู้ใหญ่ ที่ชอบเวลารู้สึกว่าเขาก็เป็นส่วนหนึ่งกับทีม หรือกลุ่มการทำกิจกรรม การสอนเทคนิคการเดินป่า ทักษะที่จำเป็น รวมถึงการดูแลเพื่อนร่วมเดินทางนั้นเป็นสิ่งที่เขาอยากรู้ ทักษะการจัดการของความปลอดภัย การระแวดระวังภัย หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ
ถ้าเป็นทริปที่เด็กไปอยู่ร่วมกันหลาย ๆ คนด้วยแล้ว เราอาจลองให้พวกเขาเล่นเป็นหัวหน้ากลุ่มสลับกัน เพื่อดูแลเพื่อนในกลุ่ม โดยที่มีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ ๆ คอยให้คำแนะนำ ลูกน้อยของเราจะได้ฝึกทั้งการรับผิดชอบตัวเอง และการอยุ่ร่วมกับผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน สร้างเขาให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ผ่านกิจกรรมเดินป่า ขึ้นเขา ที่กระตุ้นให้ใช้ศักยภาพของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี
5. คัดเลือกอุปกรณ์คู่ใจคุณ และเจ้าตัวน้อย
แน่นอนว่าการเดินป่า เส้นทางศึกษาธรรมชาติ หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงภัยเหล่านี้ย่อมต้องมีการเตรียมตัวที่พร้อม โดยเฉพาะการไปกับเจ้าตัวน้อยที่คุณห่วงใย อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ เสื้อผ้า หรือการเตรียมการที่มากเป็นพิเศษ
โดยวัยของลูกน้อย เป็นตัวแปรสำคัญในการตระเตรียมอุปกรณ์อย่างมาก ซึ่งเด็กวัยที่เหมาะสมในการพาไปร่วมกิจกรรมทำนองนี้เราแนะนำเริ่มต้นตั้งแต่ 6 ขวบเป็นต้นไป ถ้าเล็กกว่านี้พ่อแม่มักเป็นนักเดินป่าที่เชี่ยวชาญจนควบคุมปัจจัยเสี่ยงได้ดีแล้ว ในส่วนของสิ่งที่ต้องเตรียมไปเช่น น้ำ, อาหาร, รองเท้า, เสื้อผ้า, หมวก, อุปกรณ์ตั้งแคมป์, ยากันยุง, กล่องปฐมพยาบาล ยาเด็ก ข้อมูลสำรองเผื่อฉุกเฉิน ฯลฯ ก็ต้องเตรียมให้พร้อม
6. สัมผัสตรง ลงมือเล่น เรียนรู้ รับรู้ มีรางวัล
นอกจากกิจกรรมหลักที่เราต้องการให้เหล่าเจ้าตัวน้อยไปสัมผัสในป่า แค่ชมและเห็นป่าแล้วนั้น การสร้างภารกิจเล็กๆ น้อยๆ เป็นกิจกรรมเสริม นั้นช่วยให้เด็กจดจำภาพของการทำกิจกรรมทำนองนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และถ้าภารกิจเหล่านั้น มีรางวัล ก็จะยิ่งจูงใจให้เจ้าตัวเล็กทำมันให้สำเร็จ รวมทั้งปลูกฝังความสำนึกรัก หวงแหน และผูกพันกับกิจกรรมทำนองนี้ได้มากๆ เลยล่ะ ลองเตรียมรางวัลที่เหมาะกับเขาไว้ให้กำลังใจ เช่น ถ้าเขากล้าปีนต้นไม้ และรู้วิธีการเลือกกิ่งไม้ที่ปลอดภัย เลือกกลัวดินโคลน เราควรให้รางวัลกับเขา
7. พร้อมแล้ว ไปลุยเลย !
สุดท้ายแล้ว หลังจากที่ทุกอย่างพร้อม ก็ถึงเวลาไปลุยจริงกันล่ะ โดยสถานที่แรกๆ ที่เราแนะนำให้เลือกไปควรจะเป็นที่ๆ ยังไม่ลำบากมากนัก ให้เด็ก ๆ ได้ค่อยๆ ปรับตัวกับกิจกรรมทำนองนี้ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกเขาสามหลั่น อช. พระพุทธฉาย เส้นทางอ่างกา อช. อินทนนท์ เส้นทางผากล้วยไม้ อช. เขาใหญ่
แนะนำให้เลือกจากที่ไม่ต้องเดินทางไกล หรือเส้นทางเดินป่าที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เน้นการทำกิจกรรมและซึมซับมากกว่าสำหรับในช่วงแรก หรือ หากกังวลก็ให้สมัครร่วมทริปไปกับทริปเดินป่าสำหรับครอบครัวกันก่อนได้ เช่นไปกับทัวร์ของเทรคกิ้งไทยที่มีจัดค่ายครอบครัวให้เป็นประจำ trekkingthai.com ซึ่งจะดูแลทั้งกระบวนการเรียนรู้และความปลอดภัยให้
หลังจากนั้น เมื่อลูกน้อยของเราเกิดผูกพัน และชอบกิจกรรมสนุกๆ ในแบบของเรา พวกเราก็สามารถพาเค้าไปในที่ๆ ท้าทายมากขึ้น ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับวัยของพวกเขาที่กำลังเติบโตขึ้นไปพร้อมๆกัน จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มี EF (ทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ) ให้พ่อแม่ชื่นใจ
****************************************
อ้างอิง
https://goo.gl/unkar9