กระซิบรักเน้น ๆ ที่น่าน โดย ใหม่
“ยินดียิ่งนัก มาเยือนเมืองน่าน”
“น่าน” ชื่อสั้น ๆ ที่เมื่อตัดไม้เอกออก ก็อยากจะอยู่ที่นี่แบบ นาน ๆ
“น่าน” เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทลื้อ เป็นเมืองแห่งขุนเขาและสายน้ำอันเลื่องชื่อของความดุดัน “สายน้ำว้า”
นานมาแล้วที่อยากจะเดินทางมาจังหวัด “น่าน” แต่ก็ไม่เคยถึง “น่าน” เสียที อาจจะเพราะหากอยากจะมา “น่าน” ต้องใช้ความตั้งใจจริงก็เป็นได้ หากครั้งนี้ไม่ได้ความอนุเคราะห์จากทาง ททท ที่ตั้งใจจะพาไปสัมผัสเมืองน่านแล้วละก็ “น่าน” กับฉัน คงห่างกันไปอีกนาน
เราเริ่มต้นการเดินทางด้วยการบินนกแอร์ สายการบินที่ต้อนรับด้วยขนมอร่อย ๆ และรอยยิ้มสวย ๆ
เมื่อเดินทางมาถึงจังหวัดน่านแล้ว เราก็เริ่มต้นการเดินทางไปยัง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวงคู่บ้าน คู่เมืองของจังหวัดน่าน พระธาตุแห่งนี้เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ เชื่อกันว่าหากได้มาสักการะบูชาที่วัดแห่งนี้ จะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุขปราศจากโรคภัยต่างๆ การงานเจริญก้าวหน้า และเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต
จากนั้นเราไปแอบฟังปู่ม่าน ย่าม่านเขาแอบกระซิบรักกันที่วัดภูมินทร์
“กำฮักน้องกูปี้จั๊กเอาไว้ในน้ำก็กั๋วหนาว
จั๊กเอาไว้ปื้นอากาศกลางหาว
ก็กั๋วหมอกเหมยซ่อนดาวลงมาขะลุ้ม
จั๊กเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม
ก็กั๋วเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป
ก็เลยเอาไว้ในอกในใจ๋ตัวจายปี้นี้
จั๊กหื้อมันไห้ อะฮิ อะฮี้
ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…
http://board.trekkingthai.com/board/upload/photo/2013-11/894fd91035ffbf1475adba149ff3bb74.jpg
ฟังเพลง กระซิบรักคืนน่าน ประกอบนะ
วัดภูมินทร์มีพระอุโบสถที่เป็นทรงจตุรมุข ซึ่งเป็นพระอุโบสถแบบเดียวในประเทศไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยจตุรพักตร์ ที่หันหน้าออกไปด้านนอกทั้ง 4 ทิศ ด้านนอกมี
นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค
เดินไป เดินมา เจอสถูปเจดีย์พระมาลัยโปรดโลก ก็แวะเข้าชมเอาเตือนตัวเองเวลาจะทำบาปเสียหน่อย
จากนั้น เราก็นั่งรถรางชมเมืองน่าน โดยมีไกด์สาวสวยบรรยายให้ความรู้ตลอดทาง
เรามาแวะที่ “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด” พิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความศรัทธาของคนในชุมชนบ้านพระเกิดที่ต้องการอนุรักษ์โบราณวัตถุอันทรงคุณค่า สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ในอดีตให้รุ่นลูกหลานได้เห็นกัน
วันนี้เราได้ทำ “ตุงก้าคิง” หรือ”ตุงเท่าคิง” กันด้วย ตุงนี้เป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลที่ใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีสืบชะตาหลวงตามความเชื่อของชาวล้านนา
ตัวตุงนี้จะต้องมีความสุงเท่ากับตัวเจ้าของตุงเอง และจะมีสัญลักษณ์ปีนักษัตรของเจ้าของติดอยู่บนตุงด้วย
รับพรกันเรียบร้อยแล้ว ทางคุณแม่ คุณน้าที่ชุมชนแห่งนี้ก็สุดแสนใจดี นำขนมพื้นเมืองมาให้ลองชิมกัน ขนมที่คุณแม่ คุณน้านำมาให้ชิม มีสองอย่าง อย่างแรกคือ ขนมเมี่ยงลาว เป็นผักกาดดอง กินคู่กับข้าวตัง อย่างที่สองคล้าย ๆ กับขนมเทียนแก้ว มีไส้เค็มและไส้หวาน มีเครื่องดื่มคือ น้ำมะไฟ ดื่มแล้วชื่นใจอย่าบอกใครเชียว
อิ่มท้อง อิ่มใจกันแล้ว เราก็มุ่งหน้าไปยัง บ่อเกลือรีสอร์ท ที่พักของเราในวันนี้
แต่ระหว่างทางเราแวะเก็บบรรยากาศยามเย็นที่จุดชมวิว อช.ดอยภูคากันเสียหน่อย
เช้าวันที่สองเราไปเยี่ยมชมบ่อเกลือโบราณ เกลือที่นี่เป็นเกลือภูเขา พี่ ๆ ที่นี่ให้ความรู้ว่าเกลือที่นี่เหมากับการทำสปามากกว่านำไปปรุงรสทำกับข้าว เนื่องจากเกลือของที่นี่เดิมไม่มีไอโอดีน แต่ปัจจุบันได้มีการนำเครื่องผสมไอโอดีนมาผสมเกลือแล้ว
ตามตำนานกล่าวว่า แต่เดิม ต.บ่อเกลือ แห่งนี้ เป็นป่าเขาที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ แต่วันหนึ่งได้มีนายพรานผู้หนึ่ง มาล่าสัตว์และเห็นเหล่า สัตว์ ทั้งหลายมักจะมากินน้ำที่นี้เป็นประจำ เมื่อลองชิมดูถึงรู้ว่ามีรสเค็ม ต่อมาข่าวได้ล่วงรู้ถึงเจ้าหลวงภูคา และเจ้าหลวง บ่อ จึงได้รุดมาดูน้ำเค็ม และต่างก็หวังที่จะครอบครองดินแดนแห่งนี้ ทั้งสองพระองค์จึงตกลงที่จะเดิมพันกัน โดยทั้งสองพระองค์ขึ้นไปบนยอดดอยภูจั่น เพื่อแข่งขันกันพุ่งสะเดา(หอก)เจ้าหลวงภูคา พุ่ง ออกไปทางทิศตะวันตกของลำน้ามาง ตรงที่ตั้งหอนอกในปัจจุบัน ผู้คนที่ชมการพุ่งหอกได้นำเอาหินมาก่อเป็นที่ สังเกตุแล้วตั้งเป็นโรงหอทำพิธี เพื่อเป็นที่ระลึกตอบแทนบุญคุณเจ้าพ่อทั้งสองทุกปี ภายหลังทั้งสองพระองค์คิดกันว่าจะนำ คนที่ไหนมาอยู่เมื่อปรึกษากันแล้วจึง ไปนำคนที่อยู่เชียงแสนซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวบ่อหลวง ในปัจจุบันมาหัก ล้างถางป่า ทำนาเกลืออยู่ที่นี้ ดังนั้นชุมชนบริเวณนี้จึงเกิดขึ้นและอาศัยกันมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากลิ้มรสความอร่อยของเกลือภูเขากันไปแล้ว ก็ได้เวลาเดินทางไปบ้านสบมาง เพื่อไปท้าทายความดุดันของสายน้ำอันเลื่องชื่อของเมืองไทยกันแล้ว “สายน้ำว้า”
สำหรับทริปนี้เราล่องแก่งน้ำว้าตอนกลาง โดยเริ่มจากบ้านสบมาง ล่องไปจนสุดทางที่บ้านแม่จริม ใช้เวลา 2 วัน 1 คืน
การล่องแก่งน้ำว้านั้นแตกต่างจาการการล่องแก่งที่อื่น ๆ อยู่ 2 อย่าง
อย่างแรก คือ เราจะต้องนำสัมภาระส่วนตัวติดไปกับเรือด้วย ดังนั้นสัมภาระทุกอย่างจะต้องอยู่ในถุงกันน้ำ และมีการป้องกันการเปียกน้ำเป็นอย่างดี
อย่างที่สอง คือ ใครที่คิดจะมาล่องแก่งน้ำว้า ห้ามมือไม่พาย เอาเท้าราน้ำเด็ดขาด ที่นี่เขาบังคับพายกันทุกคนนะจ๊ะ
ในวันแรกของการล่องแก่ง เราพายเรือยางไปตามน้ำใสเรื่อย ๆ ผ่านเกาะแก่งน้อยใหญ่ มีแก่งที่พอให้ใจไหว ๆ มีอยู่ สามจุดคือ แก่งเสือเต้นห้วยลอย แก่งบ้านสบปึง และที่เรียกเสียงกรี๊ด กร๊าดได้มากสุดของวันนี้คือแก่งผีป่า หรือแก่งเป๊ปซี่ ซึ่งเป็นแก่งที่ถูกเลือกให้เป็นฉากในภาพยนตร์โฆษณาเครื่องดื่มยี่ห้อเป๊ปซี่
วันนี้เราพักกันที่แค้มปืแม่สนาน นอนกางเต็นท์ในริมน้ำ บรรยากาศสงบสุขใจอย่างบอกไม่ถูก ยามค่ำคืนดาวนับร้อยส่องแสงสว่างให้ที่นี่ดูไม่มืดเกินไปนัก น่าแปลก กรุงเทพฯ ไม่เห็นมีดาวอย่างนี้บ้าง!!!!
พูดถึงห้องน้ำของแค้มป์ที่นี่สะดวก สบายใช้ได้ ถึงแม้จะเป็นเพียงผนังไม้ไผ่ สร้างเป็นทรงสี่เหลี่ยม ไม่มีหลังคา และมีเพียงผ้ากั้นปิดไว้กันอุจาดก้ตาม
วันที่สอง เป็นการล่องแก่งที่ตื่นเต้นมากกว่าเดิม เราล่องผ่านแก่งใหญ่ ๆ หลายแก่งแบบต่อเนื่อง สร้างความตื่นเต้นให้กับหัวใจแบบต่อเนื่อง ใจหายแล้ว ใจหายเล่า แต่ที่เรียกได้ว่าใจแวบไปเลยเห็นจะไม่พ้น แก่งรถเมล์ เทกระเทย
เราล่องเรือกันมาประมาณครึ่งวันก็ถึงสุดทางของวันนี้กันเสียแล้ว ได้เวลาโบกมืออำลาสายน้่ำแห่งนี้ ด้วยเรามีภาระทางการดำเนินชีวิตที่ต้องไปปฏิบัติ แต่สักวันหนึ่งฉันจะกลับไปเรียกความตื่นเต้นให้กับชีวิตอีกครั้งกับสายน้ำแห่งนี้ “สายน้ำว้า” พร้อมกับบทลำนำที่พี่นัทและพี่เอ็กซ์ นายท้ายและหัวเรือ ที่กล่าวไว้ว่า “เมืองร้อยแก่ง แหล่งคนรม ชมธรรมชาติ เย็นฟาดเหล้าขาว”
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบพระคุณ ททท ที่ช่วยทำให้การเดินทางไปเมืองน่านครั้งนี้ได้สมัผัสน่าน มากกว่าที่เคย
บทความต้นฉบับ http://board.trekkingthai.com/board/show.php?forum_id=34&topic_no=473053&topic_id=480985